วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นักร้องในดวงใจ พี่นิจ สาธิต ทองจันทร์

ของดีจังหวัดกาฬสินธุ์ 

สาธิต ทองจันทร์ : หนุ่มเมืองบัวขาว






                 เล่าประวัติความเป็นมาของอำเภอกุฉินารายณ์โดยสังเขปแล้ว ถึงตอนนี้รถของเราเดินทางต่อไปยังอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้นมีเสียงเพลงจากคลื่นวิทยุชุมชนในท้องถิ่นกำลังเปิดกลอนลำ “ปากโกรธใจคิดถึง” ของ “สาธิต ทองจันทร์” จึงนึกขึ้นได้ว่านักร้องท่านนี้เป็นชาวกุฉินารายณ์นี้เอง น่าจะได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักก่อนที่จะเดินทางกันต่อไป










พระเอกลูกทุ่งหมอลำเมืองน้ำดำ "สาธิต ทองจันทร์"

สาธิต ทองจันทร์ มีชื่อจริงว่า สานิต ไชยทองศรี ในวัยหนุ่มมีความใฝ่ฝันบนเส้นทางแห่งเสียงเพลงอย่างมุ่งมั่น จึงจากเมืองบ้านเกิดมาเผชิญโชคที่มหาสารคาม โดยทำงานเป็นคณะคอนวอยในวงดนตรี “ศักดิ์สยาม เพชรชมพู”  มีโอกาสขึ้นร้องเพลงแทนนักร้องประจำในวงเป็นบางช่วง ก่อนที่จะบันทึกเสียงเพลงแรกคือ “ตำแหน่งชาวนา”  แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

              จากนั้นสาธิต ทองจันทร์จึงย้ายมาประจำอยู่ที่วง “สุภาพ ดาวดวงเด่น”  และมีโอกาสบันทึกเสียงคู่กันอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเท่าที่ควร แต่แรงใจยังไม่สิ้นสู้ต่อไปสักวันคงจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายถนนดนตรี






               อ.คำเกิ่ง ทองจันทร์ ครูกลอนหมอลำชื่อดัง ผู้สนับสนุน สาธิต ทองจันทร์ เข้าสู่วงการ

นักร้องสังกัดทองจันทร์โปรโมชั่น จากแถวหน้า เสียงพิณ ถิ่นอีสาน, สาธิต ทองจันทร์,เดือนเพ็ญ อำนวยพร ด้านหลัง เอ๋ พจนา และชาญชัย จาตุรงค์

ภายหลังสุภาพ ดาวดวงเด่น ได้หยุดวงจึงได้เข้าร่วมงานกับ “วิฑูรย์ วงษ์ไกร”  แห่งคณะ “เงาฟ้าอัศวิน เอ. 100 “ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับคณะ “ร. รุ่งเรืองศิลป์”  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อคณะ “คณะลูกอีสาน 100 เปอร์เซนต์“  รับงานในรูปแบบวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ

.               จนในที่สุดความฝันก็เป็นจริงจนเมื่อได้พบกับ “อ.คำเกิ่ง ทองจันทร์” แห่งคณะทองจันทร์โปรโมชั่น ได้เขียนกลอนลำให้สาธิต ทองจันทร์เพื่อนำมาบันทึกเสียงจนมีชื่อเสียงโด่งดังหลายกลอน เช่น  ปากโกรธใจคิดถึง, ผิดหรือพี่จน, สมน้ำหน้าตนเอง, ความรักเหมือนควันบุหรี่, มือสังหาร, ล้วนแต่เป็นกลอนลำที่ได้รับความนิยมและครองใจแฟนเพลงมาจนถึงปัจจุบัน

พิณแคนแดนอิสาน

ประวัติความเป็นมาของพิณ 






    พิณเป็นเครื่องดนตรีในสกุลเครื่องสายซึ่งประกอบด้วย กะโหลกและคอ มีสายขึงใช้ดีด อาจดีดด้วยมือแผ่นพลาสติกหรือแม้แต่เศษวัสดุที่เป็นแผ่นถากออกมาจากเขาสัตว์หรือกระดองเต่า (Midgley.1978:167-179)  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตตะ หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสำหรับดีดเป็นเสียงสันนิษฐานว่า ตตะนี้คงจะได้แบบอย่างมาจากที่ใช้สายขึ้นคันธนู เกิดการสั่นสะเทือน แต่สายธนูที่ทำหน้าที่เป็นตัวสั่นสะเทือนนั้นจะแตกต่างกันไปตามความยาว สั้นของคันธนู มีเสียงดังไม่มากนัก หาวัตถุที่ช่วยให้การเปล่งเสียงมากขึ้น จึงใช้วัตถุที่กลวงโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่น ผลน้ำเต้า กะโหลกมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่หรือไม้ที่ขุดทะลุทะลวงตลอด จึงเรียกส่วนนี้ว่า “วีณโปกขร” หรือกระพุ้งพิณ(Resonator)(อุดม อรุณรัตน์. 2526:91)  






     พิณของชนเผ่าสุเมเรียน ที่เรียกว่า ไลร์ มีมาแล้วก่อนคริสตศักราชถึง 3,000 ปี และใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มชนอียิปต์โบราณ กรีกโบราณและยุโรปสมัยกลาง ในแอฟริกา มันถูกใช้เล่นประกอบในพิธีกรรมบางอย่าง (Lsaacs and Martin.1982:225-226) ในลัทธิของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อมั่นว่าการบูชาด้วยเสียงดนตรีที่มีสายติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นวิถีอันที่จะบรรลุถึงซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระศิวะได้(เดอบาร์รี 2512:513) 




    ในทางพุทธศาสนานั้น วิถีพระโพธิญาณ ของสมเด็จพระมหาสัตว์ก็ได้อาศัยสายกลางแห่งพิณที่สมเด็จพระอัมรินทราธิราชทรงดีดถวายถึงได้ตรัสรู้สำเร็จสมโพธิญาณว่า การบำเพ็ญเพียรแสวงหาโมกษธรรมนั้น ถ้าเคร่งครัดนักก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายพิณให้ตึงเกินไปดีดแล้วย่อมขาดถ้าหย่อนยานนักย่อมไม่มีเสียงไพเราะเหมือนขึ้นสายพิณหย่อน แต่ถ้าทำอยู่ในขั้นมัชฌิมาปานกลาง ก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายแต่เพียงพอดีกับระดับเสียงย่อมจะให้เสียงดังกังวานไพเราะแจ่มใส ดังใจความในวรรณคดีเรื่อง พระปฐมสมโพธิถากลางถึงพิณไว้ในตอนทุกกิริยาปริวรรต ปริจเฉทที่ 8 ว่า 




     ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตก ดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์ สามสายลงมาดีดถวายพระมหาสัตว์ สายหนึ่งเคร่งนัก พอดีดก็ขาดออกไป  สายหนึ่งหย่อนนักดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียงและสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนเป็นปานกลางดีดเข้าก็บรรลือศัพท์ ไพเราะเจริญจิต พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตอันนั้นทรงพิจารณาแจ้งว่า มัชฌิมปฏิบัตินั้นเป็นหนทางพระโพธิญาณ 




     วรรณคดีเรื่องสักกปัญหสูตร ได้กล่าวถึงพิณที่พระปัญจสังขรดีดไว้ในสักกปัญหสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (อุดม อรุณรัตน์.2526 :93-96) ไว้ว่า “พิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก กระพุ้งพิณนั้นแล้วด้วยทองทิพย์  คัณพิณแล้วด้วยแก้วอินทนิล สายนั้นแล้วด้วยเงินงามลูกบิดแล้วด้วยแก้วประพาฬ พลางขึ้นสายทั้ง 50 ให้ได้เสียงแล้วจึงดีดพิณให้เปล่งเสียงอันไพเราะ” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในการยังพิณให้เปล่งเสียงแล้ว  พระปัญจสิงขรยังคิดแต่งเพลงขับได้อย่างไพเราะไว้เป็น “คีตูปสญหิโต ธมโม” ธรรมประกอบคีตอีกด้วย บรมครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัยจรสิงขรว่า เป็นครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัญจรสิงขรว่าเป็นครูทางดนตรี (การเปล่งเสียงจากสาย) จึงได้บรรจุไว้ในโองการไหว้ครูดุริยดนตรีไทยว่า “พระปัญจสิงขร พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น” 




     ในวรรณกรรมอีสาน 7เรื่อง ได้กล่าวถึงพิณไว้ดังตัวอย่างดังนี้ (สันทนา ทิพวงศา.2535:56-153) 




      เรื่องขูลูนางอั่ว ได้กล่าวถึงพิณว่า 
         ค้อมว่าแล้ว         ตีเสบนันเนือง 
         พิณโพนขับ         หน่อพุทธโธเมืองฟ้า 


        เรื่องท้าวก่ำกาดำ ได้กล่าวถึงพิณว่า
      ดุริยาพร้อม           ดนตรีพิณพาทย์ 
      ระบำต่อยต้อง          ชอได้ต่อยสาย 




      เรื่องผาแดงนางไอ่ ได้กล่าวถึงพิณว่า 


       มีทัง  สมณาเจ้า       ไหลมาเดียระดาษ
       ฝูงหมู่ พิณพาทย์ฆ้อง     ดังก้องสนั่นเมือง 




      เรื่องสังข์ศิลป์ชัย  ได้กล่าวถึงพิณว่า 
       ฝูงเคยเหล้น           ตีตะโพนพิณพาทย์ 


       ขับแข่งฮ้อง            โคลงฟ้ากาพย์สาร 




      เรื่อง  กาฬะเกษ  ได้กล่าวถึงพิณว่า
        เขาก็    ตึตะโพนพิณเสพสวนเสียงห้าว 
        ตาตีตั้ง              ภาวแพรฮับราช 




         เรื่อง จำป่าสี่ต้น ได้กล่าวไว้ว่า
      ฟังยื่น ควรควนก้อง      ดุริยาม่วนมี่พุ้นเยอ 
      พิรพาทย์ฆ้อง          ยวงย้ายย่างเชิง 




      รื่องพญาคันคาก  ได้กล่าวว่า 
      คี่น ๆ ก้อง   เสียงเสพนันตีพุ้นเยอ 
      ควน ๆ เสียง พาทย์พิณแคนได้ 


          คนไทยได้เคยใช้พิณหรือซุงเป็นเครื่องบรรเลงมาแต่ครั้งโบราณ  จากหลักฐานภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่เมืองโบราณ บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรูปนางทั้งห้า บรรเลงดุริยดนตรี  นางหนึ่งบรรเลงพิณเพียะ นางหนึ่งดีดพิณ 5 สาย นางหนึ่งตีกรับ นางหนึ่งตีฉิ่ง และอีกนางหนึ่งเป็นนักร้องขับลำนำ ภาพปูนปั้นดังกล่าวเป็นศิลปะสมัยทวารวดี   สันนิษฐานว่า คงปั้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16(สำเร็จ คำโมง.  2538 : 477) สันนิษฐานว่าพิณเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ  1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งของเดิมมาจากจีนตอนใต้ โดยที่เราได้ดัดแปลงนำเข้าไปเล่นกับเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด ฆ้องวง ซอ กลอง ฉิ่ง ฯลฯ เราเรียกวงนี้ว่า วงพิณพาด ต่อมาพิณได้หายไปจากวงพิณพาด ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏกลับมาใช้ปี่แทน เรียกวงพิณพาดใหม่ว่า วงปี่พาด (ประยุทธ  เหล็กกล้า.2512:44) 







      สำหรับซุง หรือพิณของคนไทยภาคอีสานนั้น  น่าที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาจากสะนุ (หรือธนู) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีสายขึงเป็นรูปคันธนูใช้ดีดเล่นหรือผูกหัวว่าวชักขึ้นไปในท้องฟ้า ให้ลมบนพัดแล้วเกิดเสียงส่วนที่เป็นเต้าเสียงนั้น น่าที่จะมาจาก  2 ทาง คือ จากกระบอกไม้ไผ่ เพราะยังมีพิณกระบอกไม้ไผ่ให้เด็กเล่นอยู่ในสังคมไทยภาคอีสาน และอีกทางหนึ่งมาจากพิณสายเครือหญ้านาง ซึ่งขุดหลุมลงไปในดินเป็นเต้าขยายเสียง และขึงสายเครือหญ้านางเป็นสายพิณพาดบนปากหลุมนั้น มัดหัวท้ายของสายเข้ากับหลัก 2 หลัก เวลาเล่นใช้ตีหรือดีดสายเกิดเสียง ดังตึงตึงคล้ายกลอง 

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หมอลำอิสาน สู่มรดกโลก

หมอลำ

“ลำ” สามารถมองออกได้ในสองลักษณะเพื่อหาความหมายคือ แสดงออกเป็นกิริยา หมายถึงการขับร้อง คือ การนำเอาเรื่องราวในวรรณคดีมาขับร้องเป็น บทกลอนทำนองทีเป็นภาษาอีสาน แสดงออกเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อเรื่องของการขับร้องหรือการแสดงที่เป็นเรื่องราว”หมอลำ” หมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการขับร้องวรรณคดีอีสาน โดยการท่องจำเอากลอน มาขับร้อง หรือผู้ที่ชำนาญในการเล่านิทานเรื่องนั้น เรื่องนี้ หลาย ๆ เรื่อง

วิวัฒนาการของหมอลำ
เดิมทีสมัยโบราณในภาคอีสานเวลาค่ำเสร็จจากกิจธุรการงานมักจะมาจับกลุ่มพูดคุยกัน กับผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อคุยปัญหาสารทุกข์สุกดิบและผู้เฒ่าผู้แก่นิยมเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง นิทานที่นำมาเล่าเกี่ยวกับจารีตประเพณีและศีลธรรม ทีแรกนั่งเล่าเมื่อลูกหลานมาฟังกัน

มากจะนั่งเล่าไม่เหมาะ ต้องยืนขึ้นเล่า เรื่องที่นำมาเล่าต้องเป็นเรื่องที่มีในวรรณคดี เช่นเรื่องกาฬเกษ สินชัย เป็นต้น ผู้เล่าเพียงแต่เล่า ไม่ออกท่าออกทางก็ไม่สนุกผู้เล่า จึงจำเป็นต้องยกไม้ยกมือแสดงท่าทางเป็นพระเอกนางเอก เป็นนักรบ เป็นต้น เพียงแต่เล่าอย่างเดียวไม่สนุก จึงจำเป็นต้องใช้สำเนียงสั้นยาว ใช้เสียงสูงต่ำ ประกอบ และหาเครื่องดนตร ีประกอบ เช่น ซุง ซอ ปี่ แคน เพื่อให้เกิดความสนุกครึกครื้น ผู้แสดงมีเพียงแต่ผู้ชายอย่างเดียวดูไม่มีรสชาติเผ็ดมัน จึงจำเป็นต้องหา ผู้หญิงมาแสดงประกอบ เมื่อ ผู้หญิงมาแสดงประกอบจึงเป็นการลำแบบสมบูรณ์

เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องต่าง ๆ ก็ตามมา เช่น เรื่องเกี้ยวพาราสี เรื่องชิงดีชิงเด่นยาด (แย่ง) ชู้ยาดผัวกัน เรื่องโจทย์ เรื่องแก้ เรื่องประชัน ขันท้า เรื่องตลกโปกฮาก็ตามมา จึงเป็นการลำสมบูรณ์แบบ จากการมีหมอลำชายเพียงคนเดียวค่อย ๆ พัฒนาต่อมาจนมีหมอลำฝ่ายหญิง มีเครื่อง ดนตรีประกอบจังหวะเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งเพิ่มผู้แสดงให้มีจำนวนเท่ากับตัวละครใน เรื่อง มีพระเอก นางเอก ตัวโกงตัวตลก เสนา ครบถ้วน




หมอลำกลอนหมอลำกลอน เป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่อันหนึ่งของอีสานลักษณะเป็นการลำ ที่มีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกันมีเครื่องดนตรีประกอบเพียงชนิดเดียว คือแคน

การลำมีทั้งลำเรื่องนิทานโบราณคดีอีสาน เรียกว่า ลำเรื่องต่อกลอนลำทวย (ทายโจทย์) ปัญหา ซึ่งผู้ลำจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดีสามารถตอบโต้ ยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ ต่อมามีการเพิ่มผู้ลำขึ้นอีกหนึ่งคนอาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ การลำจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง ชิงรักหักสวาท ยาดชู้ยาดผัว เรียกว่า ลำชิงชู้ปัจจุบันกลอนนั้นหาดูได้ยากเพราะขาดความนิยมลงไปมากแต่ว่าปัจจุบันได้วิวัฒนการมาเป็นหมอลำซิ่งเพื่อความอยู่รอดและผลก็คือได้รับความนิยมในปัจจุบัน




หมอลำกลอนซิ่ง
หมอลำกลอนซิ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสานโดยได้นำเอาศิลปะที่มีมาตั้งแต่เดิมมาดัดแปลงประยุกต์ให้ทันสมัยคือนำเอาหมอลำกลอนซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นการลำประกอบ


แคนเพียงอย่างเดียวมาประยุกต์เข้าดนตรีชิ้นอื่น ๆ เช่น พิณ เบส และกลองชุด จนได้รับความนิยมปัจจุบันได้มีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลเช่น ออร์แกนคีย์บอร์ดมาประยุกต์เล่นเป็นทำนองหมอลำ ทำให้จังหวะสนุกคึกครื้น ประกอบกับการนำเพลงสากลเพลงสตริงเพลงลูกทุ่งที่กำลังฮิตมาประยุกต์เข้าด้วยลำซิ่ง เป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2-3 คน) ใช้เครื่องดนตรี สากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว หมอลำกลอนซิ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจความความบันเทิงที่ได้รับความนิยม อีกแขนงหนึ่ง ที่ชาวอีสานนิยมจ้างไปเป็นมหรสพสมโภชน์งานที่ได้จัดขึ้นในโอกาสต่าง ๆรูปแบบการแสดง จะเป็นการร้องรำทำนองหมอลำประยุกต์กับเพลงที่สนุก โดยมีหมอลำฝ่ายชายคอยร้องแก้กับ หมอลำฝ่ายหญิง พร้อมกับ การ โชว์ลีลา การร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงามและมีหมอแคนเป่าแคนประกบอยู่ข้าง ๆเพื่อคอยคลอแคนให้หมอลำไม่หลงคีย์เสียงของตนเองซึ่งหมอลำแต่ละคนจะมีหมอแคนประจำตัวของตัวเองปัจจุบัน วงหมอลำซิ่งใหญ่ ๆ จะมีหางเครื่องเพื่อเพิ่มสีสันอีกด้วย การว่าจ้าง เจ้าภาพจะเป็นคนจับคู่หมอลำเอง เพื่อจะได้เห็นการร้องแก้กันด้วยความสนุกสนานและมีไหวพริบ




หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน
เป็นการลำที่มีผู้แสดงครบ หรือเกือบจะครบตามจำนวนตัวละครในเรื่องที่ดำเนินการแสดง มีอุปกรณ์ประกอบทั้งฉาก เสื้อผ้าสมจริงสมจังและยังมี.เครื่องดนตรีประกอบ




แต่เดิมทีมีหลัก ๆคือ พิณ (ซุง หรือ ซึง) แคน กลอง การลำจะมี 2 แนวทาง คือ ลำเวียง จะเป็นการลำแบบลำกลอนหมอลำแสดงเป็นตัวละครตามบทบาทในเรื่อง การดำเนินเรื่อง ค่อนข้างช้า แต่ก็ได้ อรรถรสของละครพื้นบ้าน หมอลำได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการลำ ทั้งทางด้านเสียงร้อง ปฏิภาณไหวพริบ และความจำ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ

ต่อมาเมื่อดนตรีลูกทุ่งมีอิทธิพลมากขึ้นจึงเกิดวิวัฒนาการของ ลำหมู่อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ประยุกต์ กลายเป็น ลำเพลิน ซึ่งจะมีจังหวะที่เร้าใจชวนให้สนุกสนาน ก่อนการลำเรื่องในช่วงหัวค่ำจะมีการนำเอารูปแบบของ วงดนตรีลูกทุ่งมาใช้เรียกคนดู กล่าวคือ จะมีนักร้อง(หมอลำ) มาร้องเพลงลูกทุ่งหรือบางคณะหมอลำได้นำเพลงสตริง ที่กำลังฮิตในขณะนั้น มีหางเครื่องเต้นประกอบ นำเอาเครื่อง ดนตรีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทรัมเปต และกลองชุด โดยนำมาผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีเดิมได้แก่ พิณ แคน ทำให้ได้รสชาติของดนตรีที่แปลกออกไป

ยุคนี้นับว่า หมอลำเฟื่องฟู มากที่สุดคณะหมอลำดัง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคามอุบลราชธานี หมอลำหมู่สามารถแบ่งตามทำนองของบทกลอนลำได้อีกซึ่งแต่ละทำนองจะออกเสียงสูงต่ำ ไม่เหมือนกัน ได้แก่ ทำนองขอนแก่น ทำนองกาฬสินธิ์ มหาสารคาม ทำนองอุบล เป็นต้น